ทุกท่านเตรียมความพร้อมในการรับมือวัยชราที่กำลังมาถึงในอีกไม่ช้านี้มากน้อยแค่ไหนกันแล้วครับ หรือมีใครเคยคิดถึงเรื่องนี้กันตั้งแต่ก่อนเกษียณบ้างครับ เมื่อผ่านช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ และความสุข จนการย่างก้าวเข้าสู่วัยชราอย่างสมบูรณ์ ที่เรียกได้ว่าเป็นวัยที่มาพร้อมกับความท้าทายมากกว่าวัยอื่น ๆ เลยครับ ทั้งเรื่องสุขภาพ การเงิน ความมั่นคง ก็ยังเป็นสิ่้งที่ยังต้องบาลานซ์ให้ได้เช่นกันครับ
การเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ไม่ควรจะมองข้ามเด็ดขาดเลยครับ เพื่อให้ช่วงบั้นปลายชีวิตมีสุขภาพกายดี สุขภาพจิตดี ควบคู่ไปด้วยกันอย่างลงตัว ให้พร้อมใช้ชีวิตในวัยเกษียณอย่างมีคุณภาพดีที่สุด เพื่อหาความหมายของชีวิตในวัยชรา เพราะบางคนอาจไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย
เพียงแค่ได้อยู่กับธรรมชาติที่สงบสุข หลีกหนีความวุ่นวาย เพียงเท่านี้ก็สุขจนหาความสุขที่ไหนมาแทนไม่ได้แล้ว ดังนั้นวันนี้ผมจะมาชวนคุยเกี่ยวกับสาระดี ๆ กับเรื่องที่น่าสนใจของรุ่นใหญ่วัยเก๋าอย่าง “สร้างคุณภาพชีวิตที่ดียามชราภาพ สร้างสุขภาพดี ใจมีสุข” อย่างไรให้เหมาะสมที่สุดกันครับ
วัยสูงอายุเปรียบเสมือนการเริ่มต้นเรื่องราวในบทบาทใหม่ของชีวิต เมื่อก้าวเข้าสู่วัยนี้แม้ว่าร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไปเยอะบ้างทั้งเรื่องสุขภาพร่างกาย สมอง ความรู้สึก การรับรู้ การตอบสนอง และการเข้าสังคมซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติที่หลายคนจะรู้สึกกังวล แต่หากเราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ก็จะช่วยให้ปรับตัวเข้ากับชีวิตช่วงนี้ได้ง่ายขึ้น
ที่สำคัญคือยังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขได้เต็มที่เหมือนเดิม มิหนำซ้ำอาจยังมีเรื่องราวดี ๆ เกิดขึ้นมากมายกว่าตอนวัยก่อนเกษียณด้วยซ้ำไป เพียงแค่เข้าใจตัวเองและดูแลสุขภาพทั้งกายและใจให้ดี การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็ดูไม่น่ากลัวเลยใช่ไหมครับ นอกจากนั้นการมีคนรอบข้างดี ๆ ทั้งลูกหลาน หรือคนใกล้ชิดก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุของเราใช้ชีวิตยามชราภาพได้อย่างมีความสุขมากขึ้นครับ
สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ยามชราภาพ
ใครว่าพออายุมากแล้วชีวิตจะต้องน่าเบื่อกันละครับ ความจริงแล้ววัยชรานี่แหละคือช่วงเวลาทองที่เราจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้เต็มที่ เพียงแค่เราต้องรู้จักดูแลตัวเอง และปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายนิดหน่อยเองครับ เพราะการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี แน่นอนว่าจำเป็นต้องมีการวางแผนการคิดมาอย่างดี และถี่ถ้วน
ดังนั้นผมเลยมีเทคนิคในการช่วยวางแผนเพื่อเป็นแนวทางสำหรับใครหลาย ๆ คนกันครับ
1. ดูแลสุขภาพกาย
การดูแลสุขภาพกายของผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญมากอันดับแรก หมั่นออกกำลังกายเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องหักโหมหนักมาก ควรเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย โรคประจำตัว เช่น เดิน ปั่นจักรยาน หรือทำโยคะเบา ๆ รำไทเก๊ก หรือเพียงแค่เดินเล่นรอบหมู่บ้านก็ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงแล้วครับ
เพราะการดูแลสุขภาพที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ลดความเสี่ยงจากการหกล้ม สาเหตุสำคัญของการบาดเจ็บในผู้สูงอายุ และยังเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีความสุข มีความมั่นใจในตนเอง และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระขึ้นด้วยครับ
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,058 วันที่ 2 - 4 มกราคม พ.ศ. 2568